Menu

ถอดบทเรียนจาก NFL คอนคัสชั่น โปรโตคอล สู่กฎใหม่ พรีเมียร์ ลีก

โพสต์เมื่อ 23 ธ.ค. 2562 17:29:10 น. เข้าชม 336 ครั้ง แจ้งลบ

หากเอ่ยถึงอาการ "คอนคัสชั่น" (Concussion - สมองกระทบกระเทือน) ถือว่าห่างไกลมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการฟุตบอล พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ กระนั้นก็ตามตอนนี้มีการถกกันเพื่อนำเข้ามาใช้ในฤดูกาลหน้า 2020-21

เรื่องนี้ถูกใส่เข้าไปในวาระการประชุมสามัญประจำปีคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (International Football Association Board) ครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 ที่ เบลฟาสต์ เพื่อร่างกฎและกำหนดห้วงเวลาการทดลองใช้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะมีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนำงานวิจัยเข้าร่วมพิจารณาผลกระทบจากการที่สมองถูกกระทบกระเทือน

พรีเมียร์ ลีก กฎใหม่ห่วงใยสมอง
พรีเมียร์ ลีก กฎใหม่ห่วงใยสมอง

ถ้าวาระนี้ผ่านจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญติดๆ กันในรอบ 12 เดือน หลังจาก พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ อ้าแขนรับวิดีโอช่วยกรรมการตัดสินหรือ "VAR" (Video Assistant Referee)

เรื่องเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่ศีรษะต้องศึกษาทาง อเมริกัน ฟุตบอล เอ็นเอฟแอล หรือศึกคนชนคน ที่อยู่คู่กับสิ่งนี้มาตลอด เพราะถือเป็นกีฬาที่ต้องกระทบกระทั่ง

โดย เอ็นเอฟแอล เริ่มพบปัญหาผู้เล่นระดับอาชีพบางคนฆ่าตัวตาย หลังมีปัญหาสมองถูกกระทบกระเทือน เป็นเหตุให้หันมาเอาจริงเอาจังริเริ่มตั้งกฎที่เรียกว่า "คอนคัสชั่น โปรโตคอล" (Concussion Protocol - ระเบียบเกี่ยวกับอาการคอนคัสชัน) ตั้งแต่ปี 2009

สภาพ ดาเนียล เจมส์ แน่นิ่งแต่ยังกลับมาเล่นต่อ
สภาพ ดาเนียล เจมส์ แน่นิ่งแต่ยังกลับมาเล่นต่อ

ทุกๆ เกมของ เอ็นเอฟแอล จะมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตผู้เล่นทั้งข้างสนามและห้องรีวิว กรณีสังเกตพบนักกีฬาต้องสงสัยว่าจะเกิดอาการสมองถูกกระทบกระเทือน จะขอเวลานอกและพาตัวออกจากสนามเพื่อตรวจร่างกายทันที

นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกต แต่ละแฟรนไชส์หรือแต่ละทีมต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ซึ่งคอยดูอาการนักกีฬาตรงข้างสนาม 7 ประการ ได้แก่ หมดสติ , ลุกช้าหลังการปะทะรุนแรง หรือศีรษะกระแทกพื้น , เสียการทรงตัว , สูญเสียความจำระยะสั้น , วิงเวียนศีรษะ , ปวดศีรษะหลังปะทะ และการบาดเจ็บบริเวณใบหน้าที่ชัดเจน หากพบสัญญาณดังกล่าว ผู้เล่นจะต้องมายังเต๊นท์ปฐมพยาบาล , กลับเข้าห้องแต่งตัว หรือส่งโรงพยาบาล เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด

แยน แฟร์ตองเก้น แทบน็อคในศึก แชมเปี้ยนส์ ลีก
แยน แฟร์ตองเก้น แทบน็อคในศึก แชมเปี้ยนส์ ลีก

ผู้เล่นซึ่งอยู่ภายใต้ "คอนคัสชั่น โปรโตคอล" ต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอนกว่าจะกลับลงสนามอย่างเช่น เมสัน รูดอล์ฟ ควอเตอร์แบ็ก พิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส มีอาการสมองถูกกระทบกระเทือน สัปดาห์ที่ 5 ของฤดูกาล 2019 พบ บัลติมอร์ เรฟเวนส์ เริ่มด้วยพักผ่อนและพักฟื้น ตามด้วยการออกกำลังกายเบาๆ โดยมีแพทย์ประจำทีมคอยดูแล , ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ และเสริมสร้างความแข็งแรง

ระหว่างกระบวนการเหล่านี้ ผู้เล่นสามารถฝึกซ้อมเน้นความสามารถเฉพาะตำแหน่ง โดยปราศจากการปะทะ กระทั่งแพทย์ประจำทีมอนุญาตให้ซ้อมเต็มรูปแบบ ก็จะถูกส่งตัวให้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ตรวจอีกครั้ง หากผลการวินิจฉัยตรงกัน จึงจะลงเล่นได้ตามปกติ

กีฬาคนชนคนที่มีกระทบกระทั่งหนัก
กีฬาคนชนคนที่มีกระทบกระทั่งหนัก

เอ็นเอฟแอล ยังตั้งโทษปรับเงินก้อนโต 50,000-150,0000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.5 ล้านบาทถึง 4.5 ล้านบาท) หรือริบสิทธิ์ดราฟต์ หากไม่ปฏิบัติตาม "คอนคัสชั่น โปรโตคอล" เช่น ปี 2016 รัสเซลล์ วิลสัน ควอเตอร์แบ็ก ซีแอตเทิล ซีฮอว์กส ถูกจับตรวจสมองได้รับการกระทบกระเทือน แต่กลับมาลงเล่นทันที เป็นเหตุให้แฟรนไชส์โดนปรับ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 ล้านบาท) เลยทีเดียวสำหรับกฎที่ พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ จะนำเข้ามาใช่ย่อมแตกต่างจาก เอ็นเอฟแอล เพราะระยะเวลาต่อเกมไม่เท่ากันน้อยกว่าคือแค่ 90 นาที ดังนั้นนักเตะที่กระทบกระเทือนทางสมองจะต้องถูกเปลี่ยนตัวออกและไม่มีสิทธิ์กลับมา ส่วนผู้เล่นสำรองที่จะเข้ามาแทนนั้นจะไม่ถูกรวมอยู่กับการเปลี่ยนตัวปกติ 3 คน

รวมถึงต้องการให้แต่ละแมตช์นั้นมีแพทย์ส่วนกลางประจำทุกเกม เนื่องจากการตัดสินจะได้ไม่เอนเอียงและถูกกดดันจากทั้งสองฝ่ายกรณีที่นักเตะอยากเล่น รวมถึงผลการแข่งขันตกเป็นรองคู่แข่งอยู่ ทว่ากรณีนี้อาจจะต้องพักเอาไว้ก่อน เพราะใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในการที่จะจ่ายให้แพทย์มาประจำทุกสนาม

เอ็นเอฟแอล มีกฎตั้งแต่ปี 2009
เอ็นเอฟแอล มีกฎตั้งแต่ปี 2009

เพราะเมื่อเมษายนที่ผ่านมา แยน แฟร์ตองเกน กองหลัง ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ กลับมาลงสนามทั้งที่บาดเจ็บที่ศีรษะเกมเลกแรกของศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบตัดเชือกที่พบกับ อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม รวมถึงเกมระดับนานาชาติ ดาเนียล เจมส์ ปีกของทีมชาติเวลส์ กลังมาเล่นต่อทั้งที่สภาพค่อนข้างน่าวิตกกังวล

ทำไม พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ต้องใส่ใจก็เพราะไม่อยากให้นักเตะมีอาการแบบผู้เล่น เอ็นเอฟแอล ที่อาจจะรุนแรงถึงเป็นโรคอัลไซเมอร์, โรคซึมเศร้า จนนำมาสู่การฆ่าตัวตายในท้ายที่สุด โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ระบุว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 5 เท่าของนักฟุตบอลที่อาจจะเป็นโรคสมองเสื่อมเลยทีเดียว

ถือเป็นการดีที่ พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ จะนำ "คอนคัสชั่น โปรโตคอล" เข้ามาใช้เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนทางสมองที่มันจะสะสมและส่งผลในระยะยาวตอนแขวนสตั๊ด เพราะแน่นอนผลการแข่งขันใดก็ไม่สำคัญเท่ากับชีวิตและสุขภาพของนักเตะ

แสดงความคิดเห็น

facebook